วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กายวิภาคจักรราศี

 
             
คำว่า กายวิภาค ตรงกับภาษาอังกฤษ หรือ ศัพท์ทางการแพทย์ว่า อะนาโตมี (Anatomy) แปลว่า อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งอวัยวะภายนอก และอวัยวะภายใน ในโหราศาสตร์ระบบผูกดวงเป็นรูปจักรราศีนั้น ท่านได้จัดให้แต่ละราศี มีความหมายครอบครอง อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ครบทั้ง ๑๒ ราศี โดยเริ่มที่ราศีเมษ ที่เป็นราศีต้นกำเนิดของร่างกาย มีอิทธิพลครอบครองอวัยวะในส่วนที่เป็นศีรษะทั้งหมด ราศีถัดไป ก็จะเป็นส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไล่เรียงจากคอ หน้าอก หน้าท้อง แขน ขา จนถึงราศีมีน เป็นปลายเท้า ดังรูป




เมื่อจับตัวคนมาขดให้เป็นวงกลม ก็จะเห็นว่า ราศีต่าง ๆ ครองส่วนของร่างกาย ตามรูปภาพ คือ ราศีเมษ เป็นศีรษะ หน้า, ราศีพฤษภ เป็นส่วนคอ หลอดลม, ราศีเมถุน คือ แขน สะบัก ไหล่ , ราศีกรกฎ คือ หน้าอก เต้านม ปอด,  ราศีสิงห์ คือ หน้าอกใต้ราวนม ปอด และหัวใจ, ราศีกันย์ คือ  ท้อง (เหนือสะดือ) ตับ ลำไส้, กระเพาะอาหาร และ มดลูก ราศีตุล คือ ลำไส้ใหญ่ ท้อง (ใต้สะดือ), ราศีพิจิก คือ อวัยวะเพศ ทวารหนัก และเบา, ราศีธนู คือ ต้นขา เหนือเข่า, ราศีมังกร คือ หัวเข่า ขาส่วนล่าง ตั้งแต่หัวเข่าลงมา, ราศีกุมภ์ คือ  ขาบริเวณกลางหน้าแข้งถึงตาตุ่ม น่อง และ ราศีมีน คือ เท้า

                การพิจารณาอวัยวะประจำราศีนี้ มีหลักตายตัว คือ เริ่มต้นศีรษะที่ราศีเมษ ไม่ว่าลัคนาอยู่ราศีใดก็ตาม หากว่าดาวบาปเคราะห์ ครองราศีอะไร ก็จะให้โทษเกี่ยวกับอวัยวะประจำกายวิภาคราศีดังกล่าวนี้เสมอ เช่น บาปเคราะห์อังคาร (๓) กับ มฤตยู (๐) อันเป็นดาวคู่อุบัติเหตุ หรือ การผ่าตัด กุมกันอยู่ราศีเมษ ให้พึงระวังโรคเกี่ยวกับศีรษะ หรือ สมอง และเส้นประสาท ในชีวิตอาจจะประสบอุบัติเหตุ กระทบกระเทือนเกี่ยวกับศีรษะอย่างรุนแรง หรือ บาปเคราะห์หลายดวงกุมกันอยู่ในราศีกันย์ ควรระวังโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้  มดลูก หากบาปเคราะห์ไปรวมกันอยู่ราศีกุมภ์ จะประสบอุบัติเหตุรุนแรง ขาหัก หรือ อาจจะขาพิการได้

ราหู (๘) และ เกตุ (๙) คราสร้าย หากอยู่ในราศีใด ก็ต้องระวังอวัยวะประจำราศีนั้น เพราะแสดงว่า จุดเปราะสถิตอยู่ที่นั่น บางทีอาจจะมีตำหนิ เช่น แผลเป็น ไฝ ปาน อยู่ในบริเวณนั้นด้วย

              มีวิธีพิจารณาอวัยวะประจำราศีอีกวิธีหนึ่ง ใช้ประกอบกับวิธีข้างต้น คือ ให้ตั้งจุดเริ่มต้นศีรษะที่ลัคนาของเจ้าชะตา เหมือนกับราศีเมษ ราศีถัด ๆ ไปก็เหมือนกับราศีที่ถัดจากราศีเมษไปตามลำดับ เช่น ลัคนา คือ ส่วนที่เป็นศีรษะ ภพที่ ๒ ก็คือ ส่วนที่เป็นลำคอ หลอดลม,  ภพที่ ๗ คือ ลำไส้เล็ก ท้อง, ภพที่ ๘ คือ อวัยวะเพศ ทวารหนักเบา, ภพที่ ๑๐ คือ หัวเขา และภพที่ ๑๒ คือ เท้า วิธีนี้ช่วยให้การพิจารณาได้แม่นยำดีมาก ไม่ว่าลัคนาอยู่ราศีใด เราจะต้องตั้งต้นกายวิภาค คือ ส่วนที่เป็นศีรษะ จากลัคนา ไล่เรียงลงมาเสมอ

                อย่างไรก็ดี การพิจารณากายวิภาคจักรราศี ควรถือหลักราศีเมษ คือ การเริ่มต้นศีรษะเป็นความสำคัญอันดับแรก ส่วนอีกแบบหนึ่ง คือ เริ่มศีรษะจากลัคนา ควรถือเป็นอันดับรองลงไป เพราะอิทธิพลบาปเคราะห์ที่ครอบงำอวัยวะประจำจักรราศีนั้น มีประสิทธิภาพรุนแรงมาก แม้ดาวพระเคราะห์ประ หรือ นิจ สถิตอยู่ราศีนั้น ๆ ย่อมทำให้ราศีนั้นเสื่อม มีผลกระทบกระเทือนถึงอวัยวะประจำราศีด้วย




ที่มา สำนักโหรพลูโต โดย อ.เล็ก พลูโต

ในการพิจารณาโรค หรือ สุขภาพร่างกายนี้ ทางโหราศาสตร์ไทย ได้พิจารณาทักษา เข้าประกอบด้วย คือ ดาวกาลกิณี หากสถิตอยู่ราศีใด ก็จะทำให้ร่างกายในส่วนนั้นเสื่อม และจะเป็นโรค หรือ เกิดอันตรายแก่อวัยวะประจำราศีนั้น ๆ วิธีหาดาวกาลกิณี ท่านให้ดูปูมทักษา ดังนี้

ผู้ที่เกิดวันใด ก็ให้นับจากเลขประจำวันเกิด เวียนไปทางขวามือ (ตามเข็มนาฬิกา) แล้วท่องคำต่อไปนี้ตามลำดับช่อง จนครบ ๘ ช่อง คือ บริวาร, อายุ, เดช, ศรี, มูละ, อุตสาหะ, มนตรี , กาลกิณี

กฎเกณฑ์สำคัญก็คือ ให้เริ่มนับบริวารที่เลขประจำวันเกิด เช่น เกิดวันอาทิตย์ (ตามตัวอย่างภาพ) ก็เริ่มนับที่เลข ๑ เป็นบริวาร, เลขถัดไปทางขวามือ คือ เลข ๒ เป็นอายุ, เลข ๓ เป็นเดช, เลข ๔ เป็น ศรี, เลข ๗ เป็นมูละ, เลข ๕ เป็นอุตสาหะ, เลข ๘ เป็น มนตรี และเลขสุดท้าย คือ เลข ๖ เป็นกาลกิณี ในตัวอย่างที่ยกมานี้ ทำให้เลข ๖ หรือ ดาวศุกร์ เป็นกาลกิณีของคนที่เกิดวันอาทิตย์

ในกรณีที่ เกิดวันจันทร์ ก็ให้เริ่มนับที่ เลข ๒ เป็นบริวาร, เลข ๓ เป็นอายุ, เลข ๔ เป็นเดช, เลข ๗ เป็นศรี, เลข ๕ เป็นมูละ, เลข ๘ เป็นอุตสาหะ, เลข ๖ เป็นมนตรี และ เลข ๑ เป็นกาลกิณี ทำให้ เลข ๑ หรือ ดาวอาทิตย์ เป็นกาลกิณี ของคนที่เกิดวันจันทร์

คนเกิดวันอื่น ๆ ก็เช่นกัน อยากรู้ว่าดาวใดเป็นกาลกิณีของคนเกิดวันใด ก็ให้ทำตามวิธีการข้างต้น ดาวกาลกิณีจะอยู่ท้ายดาววันเกิดเสมอ กฏเกณฑ์ทักษาของไทยนี้ นับว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของโหราศาสตร์ไทย ขอให้นักศึกษาพึงจดจำ และเราสามารถนำไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ อีกมากมาย ในที่นี้เพียงแนะให้รู้จักการหาดาวกาลกิณีเพียงเท่านั้น

เมื่อเราทราบว่า ราศีใดครอบครองอวัยวะส่วนใดของร่างกายแล้ว ทำให้เราสามารถทราบได้ว่า ดาวใด มีความหมายเกี่ยวกับอวัยวะส่วนใดของร่างกาย ทั้งนี้ โดยถือหลักดาวการเกษตรประจำราศีนั้น ๆ นั่นเอง เมื่อราศีที่ตนเป็นเกษตรมีความหมายเกี่ยวกับอวัยวะส่วนใด ดาวที่เป็นเกษตรประจำราศีนั้น ๆ ก็จะมีความหมายถึงอวัยวะประจำส่วนนั้น ๆ ด้วย ในที่นี้ จะชี้ให้เห็นว่าดาวใดมีความหมายถึงอวัยวะส่วนใด ตามหลักเกษตรเรือนเดียว ของ อ.พลูหลวง คือ

พลูโต (พ) ครองส่วนศรีษะทั้งหมด, แบคคัส (บ) คือ คอ หลอดลม, ราหู (๘) และ เกตุ (๙) คือ ไหล่ ไหปลาร้า สบัก, จันทร์ (๒) คือ นม หน้าอก กล้ามเนื้อใหญ่, โคนแขน, อาทิตย์ (๑) ใต้ราวนม แขนเหนือข้อศอก หัวใจ, พุธ (๔) หน้าท้องเหนือสะดือ ข้อศอก แขน,มดลูก, ศุกร์ (๖) แขนใต้ข้อศอก หน้าท้องใต้สะดือ, อังคาร (๓) อวัยวะเพศ โคนขา ก้น และฝ่ามือ, พฤหัสบดี (๕) หน้าขาอ่อน นิ้วมือ, เสาร์ (๗) หัวเข่า, มฤตยู (๐) หน้าแข้ง และน่อง, เนปจูน (น) ส่วนเท้าทั้งหมด

ทั้งนี้ นอกจากดาวพระเคราะห์ครองบริเวณส่วนนอกของร่างกายแล้ว ยังครองกระดูกใต้ผิวหนัง ตามตำแหน่งที่ดาวพระเคราะห์นั้น ๆ มีอำนาจปกครองอยู่ด้วย ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาจุดเปราะของร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้น จะได้นำตัวอย่างดวงชะตา มาเสนอเป็นเรื่อง ๆ ไป