วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของเลขศาสตร์





          การไขรหัสทำนายดวงชะตาจากตัวเลข มีประวัติยาวนานมากกว่า 4000 ปี  เกิดจาก ชนเผ่าบาบิโลเนียนและเผ่าฮิบรู ผู้คิดค้นไพ่ยิปซีและยูเรเนี่ยน ระบบตัวเลขเหล่านี้เราได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง ต่อมา ไคโร (Cheiro) ชาวตะวันตก ได้เป็นผู้ค้นพบ ความมหัศจรรย์ของตัวเลข จากวันเดือนปีเกิด หรือแม้แต่ชื่อ ซึ่งแทน ค่า "1" ถึง "9" ให้กับตัวอักษร "A" ถึง "Z" ออกมาเป็นตัวเลข และได้เกิดศาสตร์การถอดอักขระออกเป็นตัวเลขแตกแขนงออกไปในหลายประเทศด้วยกัน  

         ผู้ที่คิดค้นเลขศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยได้สำเร็จเป็นคนแรกคือ ท่านอาจารย์พูลหลวง หรือชื่อจริงท่านก็คือ ท่านประยูร อุลุชาฏะ ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านอาจารย์พูลหลวงเป็นสุดยอดโหราจารย์นักค้นคว้าที่ฉลาดปราดเปรื่องมาก ท่านเป็นคนความพยายามอย่างดีเลิศ การบุกเบิกวิชาเลขศาสตร์นี้ท่านต้องใช้เวลาศึกษาและค้นคว้ามากถึง 10 ปี ก่อนที่จะนำออกเผยแพร่และไม่เคยหวงวิชา  แรงบันดาลใจในการเขียนเลขศาสตร์ของท่านอาจารย์พูลหลวงคือ การที่ท่านรับหนังสือชื่อ CHEIRO’S BOOK OF NUMBER จากผู้คุ้นเคยท่านหนึ่งเมื่อปี 2505 อ่านดูแล้วเห็นว่า ไคโร นำอักษร A-Z มาแทนค่าเป็นตัวเลขทำนายได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ท่านพูลหลวงจึงคิดว่า อักษรไทยก็น่าจะสามารถทำนายได้เช่นกัน ท่านจึงมุมานะใช้เวลากว่าสิบปีแทนค่าตัวอักษรไทยออกมาเป็นตัวเลขได้สำเร็จอย่างน่าทึ่ง  ในการหาข้อสังเกตและลักษณะตัวเลขไทยกับตัวอักษรไทยได้อย่างชาญฉลาดคือ

เลข  ๑ ไทย  เขียนขมวดเป็นก้นหอย  ขมวดเดียวลากจากบนลงมาข้างล่าง  ดังนั้น  ตัวอักษรไทยที่เขียนเริ่มต้นและมาสิ้นสุดปลายของเส้นลากลงถือเป็นเลข  ๑  ทั้งสิ้นคือ
" ก  ด  ถ  ท  ภ  า  ฤ  ฤา  ฦ  ฦา  ไม้เอก  สระอุ "

เลข  ๒  ไทย  ปลายเส้นโอบตวัดขึ้นไปข้างหน้า  ดังนั้นตัวอักษรไทยที่ลากปลายเส้นตั้งขึ้นสิ้นสุดข้างบนเป็นเลข  ๒  ทั้งสิ้นคือ 
" ข  ช  บ  ป  ง  สระอู  เ  แ  ไม้โท "

เลข  ๓  ไทย  เป็นเส้นหยักตรงหัว  ดังนั้นตัวอักษรไทยที่มีหยักตรงส่วนบนจึงเป็นเลข  ๓  ทั้งสิ้นคือ
" ฃ  ฅ  ฆ  ฑ  ฒ  ต  ไม้จัตวา "

เลข  ๔  ไทย  เป็นเลขตวัดหางชอนขึ้นไปทางขวามือ  ดังนั้นตัวอักษรไทยที่ตวัดหางไปทางขวามือถือเป็นเลข  ๔  ทั้งหมดคือ
" ค  ธ  ร  ไม้หันอากาศ  สระอิ  ญ  ษ  โ  สระอะ "

เลข  ๕  ไทย  มีลักษณะพิเศษขมวด  ตัวอักษรใดมีการขมวดเป็นเลข  ๕  ทั้งหมดคือ
" ฉ  ณ  ฌ  น  ม  ห  ฮ  ฎ  ฬ  สระอึ "

เลข  ๖  ไทย  หางตวัดไปทางซ้าย  อักษรใดหางตวัดไปทางซ้ายเป็นเลข  ๖  ทั้งหมด
" จ  ล  ว  อ  ใ "

เลข  ๗  ไทย  เหมือนเลข  ๓  ต่อหาง  ดังนั้นอักษรใดต่อหางถือเป็น  ๗  ทั้งหมดคือ
" ศ  ส  ซ  สระอี  สระอื  ไม้ตรี "  

เลข  ๘  ไทย  หยักข้างล่าง  ดังนั้นอักษรใดหยักล่างถือเป็นเลข  ๘  ทั้งหมด
" ย  ผ  ฝ  พ  ฟ  ไม้ใต่คู้ "

เลข  ๙  ไทย  เป็นหยักสะบัดปลาย  อักษรที่หยักสะบัดปลายเป็นเลข  ๙  ทั้งหมดคือ
" ฏ  ฐ  ไ  ตัวการันต์ "

เลข  ๐  ไทย  มีค่าเท่ากับศูนย์  ดังนั้นนฤคหิตหรือหยดน้ำค้าง  “๐”  มีค่าเท่ากับศูนย์